วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

๑๔ ข้อคิดธุรกิจ

1. ในการทำธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์การทำงานภายในองค์กร ควรฝากไว้ที่ระบบ มิใช่ ฝากไว้ที่ตัวบุคคล แต่ก็ยังมีผู้จัดการหรือผู้ประกอบการไม่น้อยที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการวางระบบขององค์กรและทรัพยากรมนุษย์เท่าที่ควร มักทำตามกระแสแฟชั่นที่เห็นหน่วยงานหรือองค์กรไหนทำการปรับปรุงให้ดูดีทันสมัยก็ทำตามบ้าง โดยไม่ได้มองดูลักษณะวัฒนธรรมขององค์กรในการรับต่อยอดกับองค์ความรู้ทางการจัดการสมัยใหม่
2. บริษัทบางแห่งไม่เคยมีการสร้างคน แต่ชอบที่จะไปขโมยคนจากองค์กรอื่นๆ พอองค์กรประสบปัญหาการถูกดึงตัว ซื้อตัวไป หรือลาออกไปบ้าง ก็จะทำให้องค์กรสั่นคลอนสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน เนื่องจากไม่เคยมีระบบการสร้างตัวตายตัวแทนหรือการถ่ายโอนความรู้ความสามารถที่เป็นระบบ ซึ่งความรู้ประสบการณ์ไม่สามารถสร้างได้เพียงชั่วข้ามคืน
3.หมดสมัยแล้วที่จะจ้างผู้บริหารทำงานแบบข้ามาคนเดียว (One Man Show) หรือเสียเงินจำนวนที่สูงในการจ้างผู้บริหารที่เคยมีความสำเร็จในอดีตมาบริหารงาน โดยเชื่อว่าจะนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การหลงอยู่ความสำเร็จในอดีตจะไม่สามารถนำมาใช้ในปัจจุบันและผ่านไปยังอนาคตได้
4. คำกล่าวที่ว่า "เสียลูกน้องคนเก่งๆ ไปหนึ่งคน กลับได้ผู้จัดการห่วยๆ มาหนึ่งคนแทน" หมายความว่า เมื่อเป็นตอนพนักงานจะทำงานดี มีทักษะและฝีมือเยี่ยม แต่พอเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการ กลับทำงานไม่ค่อยเป็น รอรับแต่คำสั่ง ขาดกระบวนการคิดและการตัดสินใจในเรื่องเบื้องต้น รวมทั้งการวางระบบการจัดการภายใน แสดงให้เห็นว่าระบบการเลื่อนตำแหน่งชั้นและการฝึกอบรมมีปัญหา
5. การสร้างระบบเทคโนโลยีขึ้นก็เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้องค์กรสามารถนำระบบเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานที่
ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพนักงานหรือผู้จัดการ โดยจะไม่มีคำแก้ตัวจากพนักงานกับลูกค้าหรือผู้ที่มาติดต่อว่า "ขอโทษนะครับ ตอนนี้ผู้จัดการไม่อยู่" "ขอโทษนะค่ะ ผู้จัดการไปประชุมที่สหรัฐอเมริกา วันอาทิตย์หน้าจะเดินทางกลับ"
คำพูดเหล่านี้จะหมดไป การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีจะขจัดสิ่งนี้ให้หมดไป โดยผู้จัดการไม่จำเป็นจะต้องอยู่ที่สำนักงานก็สามารถตัดสินใจทางธุรกิจและดำเนินการตามกระบวนการต่อได้แบบ Real Time
6. กรอบเวลาทำงานจะเปลี่ยนแปลงไป แนวโน้มการทำงานยุคใหม่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานจากเดิมเวลา 09.00-17.00 น. มาเป็นทำงานทั้งวันทั้งคืน หรือทำงาน 7 วัน เลิก 23.00 น. เนื่องจากคู่ค้าธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศมีเวลาที่ไม่ตรงกับเวลาในไทย ดังนั้น การทำธุรกรรมในธุรกิจจะไม่ได้หยุดลง ณ เวลา 09.00-17.00 น.
7.ไม่ว่าธุรกิจจะประสบปัญหาอะไร? อย่างไร? สิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำในการดำเนินธุรกิจก็คือ ต้องสร้าง 3 ตัวแปรหลักให้เข้มแข็ง ตัวแปรดังกล่าวประกอบด้วย ทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนา และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เนื่องจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือวัตถุดิบล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คู่แข่งขันเดินตามมาได้ทัน แต่ 3 ตัวแปรหลักนั้นจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้นาน
8.วิสัยทัศน์ต้องวางไว้ให้ไกล แต่การวางแผนต้องทำระยะสั้น ในยุคเศรษฐกิจแปรปรวนมีความผันผวนที่จะสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจ ยิ่งเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมภายนอกแปรปรวนมากเท่าใด ก็ต้องยิ่งรุกให้มากขึ้นเท่านั้น คือต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Real Time อย่ามองหาเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพคือความมั่นคง ในยุคนี้จะไม่มีความมั่นคง เช่น ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าทำให้สินค้าจากประเทศจีน อินเดีย เข้ามาในตลาดไทย หากคิดว่าเข้ามาแล้วค่อยปรับเปลี่ยนหรือค่อยทำ อย่างนี้เรียกว่าเชิงรุก
ในทางกลับกันสินค้าจากประเทศจีน อินเดีย เข้ามาในตลาดไทย ธุรกิจจะต้องมองหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร? แล้วผลกระทบนั้น ธุรกิจจะวางกลยุทธ์อย่างไร? ไว้ก่อน ซึ่งหากเข้ามาจริง ณ เวลาใด ธุรกิจจะได้มีความพร้อมในการทำตลาด อย่างนี้เรียกว่า เชิงรุก โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือทันสมัย
9. ชีวิตคนเราเกิดมามีโอกาสเป็นที่หนึ่งน้อยครั้งมาก แต่มีโอกาสเป็นรองสูง เมื่อรู้ตัวว่าธุรกิจเป็นมวยรองต้องหากลยุทธ์ในการรุกตลาดไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดแบบกองโจร ช่างสังเกต พูดคุยกับลูกค้า หรือวิธีการทำตลาดแบบ Below the line ที่ใช้งบประมาณน้อย แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเคล็ดลับของการทำตลาดแบบนี้จะต้องทุ่มเทเหมือนนักการเมืองจึงจะประสบผลสำเร็จ
10. การจัดการสมัยใหม่ เป็นการดึงศักยภาพของคนที่มีภูมิหลัง ความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างสลับซับซ้อน และความเชี่ยวชาญที่ไม่เหมือนกันมาทำงานร่วมกัน จนทำให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือที่เรียกว่า "Joint Performances" ซึ่งองค์กรจะได้ทีมงานที่ดีที่สุดอีกด้วย
11. เมื่อวงกลม 2 วง มาชนกันก็จะเกิดช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเรขาคณิต โดยช่องว่างนั้นจะสามารถบรรจุอะไรก็ได้ ซึ่งช่องว่างนั้นในทางธุรกิจอาจก่อให้เกิดกำไรมหาศาล หากเรามองเห็นหรือค้นพบก่อนคนอื่น เช่น กรณีการหาช่องว่างทางการตลาดของซันซิล เอจจิ้ง แคร์ แชมพูสำหรับผู้หญิงวัย 30 ปี หรือโลชั่นสูตรปกป้องและลบเลือนริ้วรอย เนื่องจากเห็นว่าในขณะที่ภาวะตลาดมีการแข่งขันกันสูงในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้มองเห็นช่องว่างว่ากลุ่มผู้หญิงวัยเลข 3 ขึ้นไป มีอำนาจและการตัดสินใจซื้อจะไม่มีการพะวงเรื่องราคา แต่จะห่วงในวัยของตนเองที่ว่าเมื่อเลข 3 ขึ้นไปจะบ่งบอกถึงความแก่ จึงต่างให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองมากขึ้น
12. การทำธุรกิจยุคนี้ ต้องหันกลับไปทำในสิ่งที่ธุรกิจตนเองถนัด (Get Back To Basic) หรือแก่นหลักของธุรกิจ (Core Competency) คือ สิ่งที่ต้องทำขึ้นมา คู่แข่งขันลอกเลียนแบบได้ยาก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อย่าเลือกทำในสิ่งที่ง่าย ใครๆ ก็สามารถลอกเลียนแบบได้
13.การเปิดพรมแดนให้มีการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ใช่เป็นถนนเส้นเดียว (One-way street) อีกต่อไป โอกาสทางด้านการตลาดก็จะมีมากขึ้น โดยการแข่งขันระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้สำหรับยุคนี้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า "ถ้าเราไม่ไปประเทศเขา เขาก็มาประเทศของเรา"
ด้วยหลักการและเหตุผลนี้ ทำให้นักธุรกิจไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นว่า การทำธุรกิจเพียงแค่ในประเทศ ไม่สามารถเพียงพอต่อการดำรงอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว ควรต้องหาลู่ทางในการส่งออกหรือกลยุทธ์ตั้งรับกับประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามา รวมทั้งต้องแสวงหาโอกาสในการผลักดันให้สินค้าของตนเองไปปรากฏในตลาดนานาชาติให้ได้ ซึ่งทฤษฎีการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับตราสินค้าที่ต้องก้าวไปในต่างประเทศ (Progressive Brand) กล่าวว่า สินค้าใดข้ามน้ำข้ามทะเลไม่ได้ สินค้านั้นมีค่าน้อยในประเทศ แต่ถ้าสินค้าใดข้ามน้ำข้ามทะเลได้ สินค้านั้นมีค่ามหาศาล
14. การตลาดยุคใหม่ 4 P’s ไม่พอ อาจจะมีการเพิ่มอีก 6 P’s คือ P ตัวที่ 5. การวางแผน (Planning) โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ P ตัวที่ 6. การรักษาสัมพันธภาพกับสื่อมวลชน (Public Relation) เนื่องจากสื่อมวลชนจะเป็นกระบอกเสียงแทนบริษัทกับสินค้า โดยธุรกิจไม่ต้องไปทำสงครามราคา P ตัวที่ 7. การบรรจุหีบห่อ (Packaging) ไม่ใช่รูปทรงสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ชื่อสินค้า (Brand Name) โลโก้ (Logo) การออกแบบฉลาก (Design of Label) ต้องมีความสอดคล้องกับยุคสมัย
P ตัวที่ 8. บุคลากรของบริษัท (People) ในยุคนี้ จะแพ้หรือชนะกันตรงที่ธุรกิจใดมีบุคลากรที่มีคุณภาพ เก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีบุคลากรที่เข้ากับสินค้ามากกว่ากัน P ตัวที่ 9. บารมี (Power) ผู้บริหารในบริษัทได้สร้างบารมีและสายสัมพันธ์ทั้งในวงการธุรกิจและการเมืองมากน้อยเพียงใด P ตัวที่ 10. คำมั่นสัญญา (Promise) ต้องมีคำมั่นสัญญาที่เป็นจริงกับลูกค้าในลักษณะไร้กาลเวลา (Longevity) คือเป็นจริงเสมอทุกที่ทุกเวลาทุกสถานที่
อย่างไรก็ดีผู้เขียนอยากจะบอกว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักคิดที่อิงวิชาการ อย่าใช้ความรู้สึก ประสบการณ์ หรือการประมวลภาพในการทำธุรกิจในอดีต แต่เพียงอย่างเดียว เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรล้วนมีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก ในการที่ธุรกิจจะรุกหรือรับในภาวะการเปิดตลาดแบบเสรีทางการค้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น