วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ทุกการเลือก มีต้นทุน(ได้อย่างเสียอย่าง)

 ยังมีชายหนุ่มผู้หนึ่งที่นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เขาพยายามศึกษาหาความรู้ในศาสตร์หลายๆ แขนง แต่ทว่าในอาชีพการงานกลับมีความสำเร็จเพียงระดับหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเจริญก้าวหน้าไปถึงยังจุดที่ตนเองหวังไว้ได้ เขาขบคิดไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงได้ไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เซน
      
       เมื่ออาจารย์เซนได้รับฟังปัญหาของชายหนุ่ม กลับไม่เอื้อนเอ่ยอันใดออกมา เพียงแต่เชื้อเชิญให้ชายหนุ่มรับประทานอาหารเจด้วยกันที่วัด บนโต๊ะเรียงรายไว้ด้วยอาหารเจละลานตานับร้อยชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ชายหนุ่มไม่เคยพบเห็นมาก่อน เขาจึงได้พยายามลิ้มลองอาหารเหล่านั้นให้ครบทุกอย่าง ต่อเมื่อรับประทานครบ จึงค่อยวางตะเกียบและรู้สึกว่าตนเองอิ่มเกินไป
      
       อาจารย์เซนถามว่า "อาหารที่ท่านรับประทานลงไปนั้นมีรสชาติเช่นไรบ้าง?"
       ชายหนุ่มตอบด้วยความลำบากใจว่า "มีรสชาติร้อยพัน ยากที่จะจำแนกแยกแยะ สุดท้ายรู้สึกแค่เพียงว่ากระเพาะขยายอย่างยิ่ง"
       อาจารย์เซนถามต่อไปว่า "เช่นนั้นแปลว่าท่านรู้สึกสบายดีและพอใจใช่หรือไม่?"
       ชายหนุ่มตอบว่า "มิใช่ กลับทรมานอย่างยิ่ง"
       เมื่ออาจารย์เซนได้ฟัง ก็เพียงแต่ยิ้มเล็กน้อย ไม่พูดจา
      
       วันต่อมาอาจารย์เซนชวนชายหนุ่มปีนขึ้นไปบนยอดเขา แต่เมื่อทั้งสองปีนขึ้นไปถึงกลางทาง ชายหนุ่มได้พบกับหินคริสตัลสีสดสวยแวววาวมากมาย จึงเกิดความอยากได้ และเก็บหินเหล่านั้นใส่ย่ามของตนจนเต็มแน่น แต่น้ำหนักของหินที่มากเกินไปทำให้เขาไม่สามารถปีนขึ้นไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตัดใจทิ้งคริสตัลเหล่านั้น
      
       ขณะที่ยืนลังเลอยู่กลางทางนั้นเอง อาจารย์เซนจึงได้กล่าวขึ้นว่า "ท่านควร "วางลง" ได้หรือยัง? มิเช่นนั้นจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร?"
      
       เมื่อชายหนุ่มได้ฟัง ก็พลันกระจ่างแจ้งในใจ สองมือวางก้อนหินเหล่านั้นลง พลางป่ายปีนขึ้นไปถึงยอดภูสูงได้สำเร็จ จากนั้นจึงกราบลาอาจารย์เซนเดินทางกลับ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี ชายหนุ่มก็ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้
      
       ปัญญาเซน : รับประทาน อาหารก็ดี ปีนเขาก็ดี การศึกษาหาความรู้ก็ดี ขณะที่ได้มาซึ่งสิ่งใด ย่อมต้อง สูญเสียสิ่งหนึ่งไปเสมอ บนเส้นทางชีวิตมนุษย์ไม่สามารถครอบครองทุกอย่าง ยังคงมีหลายอย่างที่จำต้องยอมสละละทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง เมื่อเรียนรู้ที่จะ "วางลง" จึงค่อยเข้าใจถึงความสุข จึงค่อยรู้ซึ้งเมื่อ "ได้รับ"
      
       ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028-2995-4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น